Natalie March 22, 2022

ไทรอยด์เป็นพิษ อันตรายกว่าที่คิดต้องระวัง

ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โดยต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญของร่างกาย ดังนั้นหากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนปริมาณต่ำหรือสูงเกินไป ก็ส่งผลทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานผิดปกตินั่นเอง ที่สำคัญยังส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง ทั้งยังกระทบต่อความแข็งแรงของผิวหนัง เล็บ และเส้นผมเสี่ยงร่วงหนักมากอีกด้วย

สาเหตุไทรอยด์เป็นพิษ

ไทรอยด์เป็นพิษมักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 10 เท่า โดยอาการแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน และภาวะไทรอยด์เป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • สาเหตุที่พบได้มากที่สุดคือ Grave’s disease: เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป
  • เกิดจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) เป็นสาเหตุที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) มีผลทำให้ฮอร์โมนที่เก็บอยู่ในต่อมไทรอยด์รั่วออกมาได้
  • การได้รับไอโอดีนมากเกินไป นอกจากนี้ไอโอดีนยังสามารถพบได้ในยาบางชนิด สาหร่ายทะเล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสาหร่ายทะเล อาหารทะเล เป็นต้น
  • ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่รับประทานยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
ไทรอยด์เป็นพิษ อันตรายกว่าที่คิดต้องระวัง
ไทรอยด์เป็นพิษ อันตรายกว่าที่คิดต้องระวัง

อาการและอาการแสดงที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคไทรอยด์


ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการป่วยเริ่มต้นและอาการป่วยในระยะยาวที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง การรักษา และสุขภาพร่างกายของแต่ละคน โดยอาการเสี่ยงที่ส่งสัญญาณเล็ก ๆ ว่าคุณอาจเสี่ยงป่วยไทรอยด์ มีดังนี้

  • อ้วนขึ้น หรือผอมลงอย่างผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกง่าย
  • นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย สมาธิสั้น เครียด
  • หิวบ่อย น้ำหนักลดลงแม้จะรับประทานอาหารปกติ
  • ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นวันละ 2 – 3 ครั้ง

อาการที่เกิดขึ้นในระยะยาวและพบได้บ่อย

อาการทางตา

สามารถพบได้ถึงร้อยละ 20 ของคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเริ่มต้นจะมีอาการระคายเคือง แสบตา น้ำตาไหลง่าย หนังตาบวม ตาโปน ตาหลุน แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการตาโปนแต่หนังตาจะปิดตาขาวส่วนบนได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้เหมือนกับคนตาเหลือก แต่ทั้งนี้อาการทางตาอาจจะดีขึ้นได้หากฮอร์โมนเข้าสู่ระดับปกติ แต่ในกรณีที่เป็นมากอาจจะเกิดตาปูดหรือโปนออกมานอกเบ้าตา มองเห็นภาพซ้อน บางครั้งอาจจะมีอาการตามัวร่วมด้วย ซึ่งอาการทางตาที่เกิดมาจากไทรอยด์เป็นพิษจะต้องได้รับการรักษาเฉพาะส่วน เช่น การใช้ยาที่ช่วยลดการอักเสบ ยากดภูมิ หรือการฉายแสง ซึ่งการรักษาดังกล่าวจะรักษาได้ในระยะยาว แต่หากปล่อยให้เป็นนานหรือเป็นมาก อาจต้องพึ่งพาการผ่าตัด

อาการเกี่ยวกับแขนขาและการเคลื่อนไหว

ผู้ป่วยอาจมีอาการแขนขาไม่มีแรง ที่เกิดขึ้นมาจากระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน หรือจากพิษของไทรอยด์ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ยากขึ้น

อาการทางผิวหนัง

ความผิดปกติของผิวหนัง มักเกิดบริเวณหน้าแข้ง อาจเกิดขึ้นพร้อมกับความผิดปกติของตา ผิวหนังที่เป็นจะหนาขึ้นมาเป็นปื้น หรืออาจจะเกิดขึ้นบริเวณใดก็ตามที่ได้รับแรงกดหรือเสียดสีมาก เช่น ที่เท้าจากรองเท้าเสียดสี หรือหัวไหล่จากการแบกของ เป็นต้น

อาการผมร่วง

ในผู้ป่วยหลายรายอาจพบว่าตัวเองมีอาการผมร่วงมาก บางครั้งอาจเกิดอาการผมร่วงเป็นจุกเวลาสระผม โดยอาการผมร่วงนี้จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยและก่อให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลในเรื่องของภาพลักษณ์ แต่หากมีการรักษาต่อมไทรอยด์ให้กลับมาทำงานปกติได้ควบคู่กับการเข้ารับการปลูกผม ก็จะช่วยให้ผมกลับมาหนาได้เหมือนเดิม

Leave a comment.

Your email address will not be published. Required fields are marked*